วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2552

งานประเพณีปอยส่างลอง หรืองานบวชลูกแก้ว



งานประเพณีปอยส่างลอง หรืองานบวชลูกแก้ว ตามแบบฉบับของชาวไทยใหญ่ ซึ่งถือว่าการบรรพชาสามเณรได้กุศลแรงกว่าบวชพระ จึงมักจัดกันอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างเดือนมีนาคม- พฤษภาคม เด็กที่จะบรรพชาเรียกว่า “ส่างลอง” เมื่อกำหนดจัดงานก็จะโกนผมแต่ไม่โกนคิ้ว(พระภิกษุพม่าไม่โกนคิ้ว) แล้วแต่งกายอย่างสวยงามด้วยเครื่องประดับอันมีค่า เช่น สวมสายสร้อย กำไล แหวน และใช้ผ้าโพกศีรษะแบบพม่า สวมถุงเท้ายาว นุ่งโสร่ง ทาแป้งขาว เขียนคิ้วทาปาก แล้วพาไปขี่ม้า ถ้าไม่มีม้าก็จะขี่คอคน ซึ่งเรียกว่า “พี่เลี้ยง” หรือ “ตะแปส่างลอง” แล้วแห่ไปตามถนนสายต่างๆ มีกลดทองหรือ “ทึคำ” แบบพม่ากั้นกันแดด ปัจจุบันประเพณีได้มีการกำหนดรูปแบบให้เป็นการบรรพชาสามเณรแบบสามัคคี คือ จัดให้มีการบรรพชาส่างลองเป็นจำนวนมากในคราวเดียวกันทุกปีในช่วงต้นๆ เดือนเมษายนของทุกปีทำให้ประเพณีปอยส่างลองจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีความยิ่งใหญ่และงดงามเป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยว เจ้าอาวาสวัดเปียงหลวง และประธานจัดงานฝ่ายสงฆ์เปิดเผยว่า การจัดงานในปีนี้จะเน้นตามแบบประเพณีดั้งเดิมของไทยใหญ่ให้มากที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปเที่ยวยังชายแดนไทย-พม่า ด้านบ้านเปียงหลวงจะได้มีโอกาสสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่และประเพณีวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่อย่างแท้จริง สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดงาน พระมหาไกรสร เปิดเผยว่า เพื่ออนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมไทใหญ่ เนื่องจากในหมู่บ้านแห่งนี้ราษฎรส่วนใหญ่เป็นคนไทใหญ่ และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมมีโอกาสศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา รวมทั้งเพื่อเป็นการร่วมเทิดพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และมีพระชนมายุครบ 80 พรรษาด้วย การจัดงานปอยส่างลองในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยตลอดงานรวม 5 วัน จะมีการแสดงมหรสพหลายอย่าง ซึ่งในปีนี้ทางคณะผู้จัดได้เชิญคณะจ๊าตไต (ลิเกไทใหญ่) จากเมืองสี่ป้อ จ๊อกเม ภาคเหนือรัฐฉานมาร่วมแสดงด้วย ส่วนพิธีเปิดงานจะมีขึ้นในวันที่ 22 เมษายน 2550 โดยจะมีเจ้าธวัชวงค์ ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ไปเป็นประธานเปิดงาน ส่วนกิจกรรมสำคัญคือ ในช่วงเย็นของวันที่ 20 เม.ย. จะมีพิธีโกนผมเด็กที่จะเข้ารับเป็นส่างลอง เวลา 05.00 น. วันที่ 21 เม.ย. จะมีพิธีอาบน้ำเงินน้ำทอง จากนั้นแต่งกายให้กับส่างลองด้วยชุดเจ้าชาย พร้อมรับศีลรับพร และรับประทานอาหาร 12 อย่าง โดยผู้เป็นบิดา มารดาจะเป็นคนป้อนในสามคำแรก จากนั้นจะแห่รอบพระวิหารรวม 7 รอบ และระหว่างวันที่ 22 – 24 เม.ย. จะเป็นวันรับแขก หรือวันข่ามแขก ที่เดินทางมาร่วมงานจากที่ต่างๆ พร้อมกันนั้นจะมีการแห่ขบวนส่างลองไปคารวะตามวัดต่างๆ ในอำเภอเวียงแหง ส่วนไฮไลท์ของงานในช่วงบ่ายของวันที่ 24 เม.ย. เวลาประมาณ 15.00 น.จะมีการแห่ริ้วขบวนใหญ่สวยงามไปตามถนนสายหลักรอบหมู่บ้านเปียงหลวง และในช่วงเย็นเวลา 17.00 น. จะมีพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 80 พรรษา ซึ่งในพิธีนี้คาดว่าจะมีข้าราชการ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดถึงเจ้าภาพส่างลองและประชาชนจากที่ต่างๆ ไปร่วมไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคน ในช่วงเช้าของวันที่ 25 เม.ย. จะมีพิธีเรียกขวัญส่างลองและเลี้ยงอาหาร 12 อย่างอีกครั้ง เสร็จแล้วนำส่างลองแห่รอบพระวิหาร จากนั้นในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ก็จะนำจางลองและส่างลองเข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสามเณร ทั้งนี้ หมู่บ้านเปียงหลวง อยู่ห่างจากชายแดนไทย-พม่า ด้านวัดฟ้าเวียงอินทร์ (บ้านหลักแต่ง) ประมาณ 3 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่161 กม. ก่อตั้งราวปีพ.ศ. 2493 โดยกลุ่มพ่อค้าวัวต่างชาวไทใหญ่จากรัฐฉานที่อพยพหนีการรุกรานของกองทัพจีนก๊กมินตั๋ง ในอดีตหมู่บ้านเปียงหลวงเป็นที่ตั้งกองบัญชาการกำลังกู้ชาติไทใหญ่ SURA นำโดยนายพลกอนเจิง ปัจจุบันหมู่บ้านเปียงหลวงมีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 7 ชนเผ่าประกอบด้วย ไทใหญ่ จีนฮ่อ คนเมือง ลาหู่ ลีซอ ชาวปะหล่อง และปะโอ โดยแต่ละปีจะมีการจัดงานประเพณีสำคัญของไทใหญ่หลายอย่าง อาทิ งานประเพณีปอยส่างลอง งานปีใหม่ไต งานเข้าพรรษา งานออกพรรษา ปอยจ่าก๊ะ ปอยสลากภัต ปอยหลู่ส่างกาน (กฐิน) นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปีจะมีการแข่งขันเล่นสะบ้า ยิงหนังสติ๊ก และยิงธนู ตามแบบประเพณีพื้นบ้านของชาวไทใหญ่ที่นิยมเล่นกันในช่วงสงกรานต์ ซึ่งสร้างความสนุกสนานในชุมชนเป็นอันมาก สำหรับผู้สนใจจะเดินทางไปร่วมงานสามารถเดินทางไปได้จากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามถนนสายเชียงใหม่-ฝาง พอถึงอำเภอเชียงดาวเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายเมืองงาย หรือเข้าบ้านเมืองงาย เลยบ้านเมืองงายไปประมาณ 3 กิโลเมตร จะถึง 3 แยก แม่จา ให้เลี้ยวซ้ายมาตามถนนสายแม่จา-เปียงหลวง ก็จะถึงสถานที่จัดงาน ซึ่งที่หมู่บ้านเปียงหลวง และในอำเภอเวียงแหงมีสถานที่พักหลายแห่งไว้คอยบริการ

อ้างอิง

http://www.bankoku.org/th/place/detail.asp?ID_Place=686&ID_Part=11&ID_Province=30&ID_Cat=


www.tlcthai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น