วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2552

ประกาศกฎเหล็ก ก.พ. สั่งข้าราชการไร้น้ำยาออกจาก ราชการ




ประกาศกฎเหล็ก ก.พ.สั่ง "ขรก.ไร้น้ำยา" ออกจาก ราชการ-เปิดโอกาสปรับปรุงตัวก่อน อุทธรณ์ใน30 วัน (มติชนออนไลน์)

ประกาศใช้กฎ ก.พ.สั่งให้ข้าราชการไร้ประสิทธิภาพออกจากราชการ ประเมินไม่ผ่าน ให้โอกาสปรับปรุงตัวเอง แต่ถ้าไม่ถึงเป้าหมาย ให้ออกได้ทันที แต่ยังมีสิทธิอุทธรณณืต่อ ก.ค.พ.ภายใน 30 วัน

ผู้สื่อข่าว "มติชนออนไลน์" รายงานเมื่อวันที่ 19 มีนาคมว่า มีการประกาศใช้กฎ ก.พ.ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการกรณีไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล พ.ศ. 2552 ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมาซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการพลเรือนซึ่งไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลออกจากราชการ โดยจะต้องให้โอกาสข้าราชการที่ไร้ประสิทธิภาพได้รับการพัฒนาปรับปรุงตนเองก่อน ถ้าถึงที่สุดถูกสั่งให้ออกจากราชการแล้ว มีสิทธิ์อุทธรณ์คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม ภายใน 30 วัน

สำหรับรายละเอียดของกฎ ก.พ.ดังกล่าวมี ดังนี้

1. การสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในระดับอันเป็นที่พอใจของทางราชการนั้น ให้ส่วนราชการพิจารณาจากผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการผู้นั้นเป็นหลัก และให้ส่วนราชการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้

2.เมื่อผู้บังคับบัญชาประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดตามมาตรา 76 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2551 แล้วเห็นว่าข้าราชการผู้ใดมีผลการปฏิบัติราชการในระดับที่ต้องให้ได้รับการพัฒนาปรับปรุงตนเอง ก็ให้แจ้งผู้นั้นทราบเกี่ยวกับผลการประเมิน พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้นั้นเข้ารับการพัฒนาปรับปรุงตนเองโดยให้ลงลายมือชื่อรับทราบไว้เป็นหลักฐาน

ทั้งนี้ ในการพัฒนาปรับปรุงตนเองให้ผู้บังคับบัญชาจัดให้ข้าราชการผู้นั้นทำคำมั่นในการพัฒนาปรับปรุงตนเอง โดยกำหนดเป้าหมายในระดับอันเป็นที่พอใจของทางราชการให้ชัดเจน เพื่อใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติราชการครั้งต่อไป

การประเมินผลการปฏิบัติราชการ และการพัฒนาปรับปรุงตนเองของข้าราชการดังกล่าวให้มีระยะเวลาไม่เกินสามรอบการประเมิน

ในกรณีที่ผู้ถูกประเมินเห็นว่า การประเมินผลการปฏิบัติราชการของผู้บังคับบัญชามีความไม่เป็นธรรมอาจทำคำคัดค้านยื่นต่อผู้บังคับบัญชารวมไว้กับผลการประเมินเพื่อเป็นหลักฐานได้

3. เมื่อผู้บังคับบัญชาประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการตามคำมั่นในการพัฒนาปรับปรุงตนเองแล้ว ปรากฏว่า ผู้นั้นไม่ผ่านการประเมินในระดับอันเป็นที่พอใจของทางราชการตามคำมั่นในการพัฒนาปรับปรุงตนเอง ให้รายงานผลการประเมินดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุ เมื่อได้รับรายงานตามวรรคหนึ่ง ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุอาจดำเนินการ ดังนี้

(1) กรณีข้าราชการผู้รับการประเมินประสงค์จะออกจากราชการ ก็ให้สั่งให้ออกจากราชการหรือ

(2) สั่งให้ข้าราชการผู้นั้นเข้ารับการพัฒนาปรับปรุงตนเองอีกครั้งหนึ่ง โดยทำคำมั่นในการพัฒนาปรับปรุงตนเองเป็นครั้งที่สอง หรือ

(3) สั่งให้ข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการ

เมื่อผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุมีคำสั่งตาม (1) หรือ (3) แล้วแต่กรณีให้รายงาน อ.ก.พ. กระทรวง ในกรณีที่ อ.ก.พ. กระทรวงเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมและมีมติเป็นประการใด ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุ ปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ อ.ก.พ. กระทรวงมีมติ

4.เมื่อ อ.ก.พ. กระทรวงมีมติเป็นประการใดแล้ว และผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมีคำสั่งหรือปฏิบัติตามที่ อ.ก.พ. กระทรวงมีมติแล้ว ให้แจ้งคำสั่งหรือการปฏิบัติดังกล่าวให้ข้าราชการผู้นั้นทราบ

5. ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการตาม กฎ ก.พ. นี้ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม (ก.พ.ค.)ภายใน 30 วันนับแต่วันทราบ หรือวันที่ถือว่าทราบคำสั่งให้ออกจากราชการ

6.ในกรณีที่มีการดำเนินการเพื่อสั่งให้ข้าราชการออกจากราชการตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการ กรณีไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล พ.ศ. 2547 ก่อนวันที่กฎ ก.พ. นี้ใช้บังคับ การพิจารณาสั่งให้ข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการตาม กฎ ก.พ. ฉบับดังกล่าวต่อไป


อ้างอิง
http://hilight.kapook.com/view/35018



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น